สวัสดีค่ะ หมีหมอกค่ะ~
เอนทรี่นี้ขอเท้าความก่อนซักนิด ตอนนี้เราเป็นนักศึกษาวิจัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปกติแล้วประเทศนี้เนี่ย เวลาคนต่างชาติจะเช่าห้องอพาร์ตเมนต์รายเดือนอยู่ยาว ๆ จะต้องมีบัตรต่างด้าว และวีซ่าระยะยาวก่อนค่ะ เช่น วีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน ไม่งั้นนายหน้าจะไม่รับ
ฉะนั้นการมาเรียนปุ๊บได้อยู่ห้องอพาร์ตเมนต์เลยปั๊บ จะเป็นไปได้ยากมาก เพราะต่อให้มาหาบ้านก่อนเปิดเทอม เราก็ยังไม่มีวีซ่าหรือบัตรต่างด้าวไปใช้เช่าห้อง เพราะส่วนใหญ่เอกสารรองรับพวกนี้จะได้หลังการเข้าประเทศเพื่อเข้าเรียนไปแล้ว(ได้ตอนผ่านตม.แล้วยื่นเอกสารต่างๆที่เตรียมมาให้ค่ะ ตม.จะออกบัตรต่างด้าวให้ที่สนามบินเลย)
แล้วการหาห้องพักก็ไม่ใช่ว่าหาวันนั้นปุ๊บเข้าไปอยู่ได้เลย จะต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างเร็วที่สุดก็เป็นสัปดาห์
เพราะฉะนั้นนักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ จะอยู่หอของมหาวิทยาลัยไปก่อนระยะหนึ่งค่ะ ถูกด้วย สะดวกด้วย
ตอนแรกเราก็คิดจะทำแบบนั้น
แต่…
หอของมหาวิทยาลัยเราอยู่ไกลแคมปัสมาก!! มากถึงขนาดนั่งรถไฟเป็นชั่วโมง แถมต้องเปลี่ยนสายอีก อาจจะเพราะตัวแคมปัสอยู่ในเมืองใหญ่ หอนักเรียนต่างชาติที่ตามมาทีหลังเลยไม่เหลือที่ให้สร้าง
เอาเป็นว่า
คำนวนเรื่องความสะดวกสบายแล้ว เราเลยตัดสินใจไปอยู่แชร์เฮาส์บริเวณใกล้มหาวิทยาลัยแทนค่ะ!
เอนทรี่นี้ เราจะมาสรุปข้อดีข้อเสียของแชร์เฮาส์ที่ญี่ปุ่นให้ฟัง แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจกันก่อนว่า แชร์เฮาส์ทุกที่ไม่เหมือนกัน นี่เป็นส่วนเฉพาะที่เราเจอเท่านั้น ถือว่าเป็นไอเดียสำหรับใครที่สนใจพักที่แชร์เฮาส์ที่ญี่ปุ่นนะคะ!

แชร์เฮาส์คืออะไร?

ถึงจะใช้ชื่อว่าแชร์เฮาส์ แต่ส่วนใหญ่เหมือนแชร์อพาร์ทเมนต์มากกว่า ตามรูปแบบแชร์เฮาส์ทั่วไปแล้วก็คือเราจะมีห้องนอนส่วนตัวเป็นของตัวเอง ส่วนห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องนั่งเล่น จะเป็นส่วนรวมค่ะ
จะมีบางที่ที่ต้องแชร์ห้องสองคนบ้าง หรือแชร์หลายคนโดยมีเตียงสองชั้นหลาย ๆ เตียงบ้าง
แชร์เฮาส์จะมีเฟอร์นิเจอร์หลัก ๆ ให้อยู่แล้ว เช่นเตียง ตู้เย็นในห้องส่วนตัว (บางที่ก็ต้องแชร์ตู้เย็น) โต๊ะอ่านหนังสือ เก้าอี้ เครื่องซักผ้า เครื่องครัว
และจะมีพนักงานมาทำความสะอาดส่วนกลางให้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
สิ่งที่ต้องซื้อเพิ่มเองก็จะเป็นพวก หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน และของใช้จิปาถะทั่วไปเช่น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า ไม้แขวนเสื้อ ที่เหลือก็ตามอัธยาศัยและขนาดห้องจะเอื้อ
แชร์เฮาส์ในญี่ปุ่นหลายที่รับคนต่างชาติ จริง ๆ ชาวต่างชาติเป็นทาร์เก็ตของแชร์เฮาส์เลยค่ะ เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาอยู่นาน และไม่ต้องการจะซื้อเฟอนิเจอร์ใหม่อะไรใหม่ คนญี่ปุ่นจบใหม่ช่วงหางานก็เช่นกัน คนก็สนใจเข้ามาอยู่เพื่อฝึกภาษาก็มี ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าเช่าห้องเดี่ยวด้วย

ขั้นตอนการเข้าพักอาศัยที่แชร์เฮาส์
1. เปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ ส่วนใหญ่เซิชเป็นภาษาอังกฤษก็ขึ้นค่ะ ดูทำเลที่อยากอยู่ แชร์เฮาส์แต่ละที่จะมีบอกว่าที่พักหญิงล้วน ชายล้วน หรือไม่กำหนด แล้วก็จะมีรูปห้องส่วนตัว ห้องรวมให้ดู พร้อมบอกกฎคร่าว ๆ เช่นห้ามนำคนนอกมาพัก มีเวรทิ้งขยะ เป็นต้น
2. จองวันไปดูสถานที่จริงผ่านเว็บไซต์ บอกเลยว่าถ้าเป็นไปได้ ไปดูสถานที่จริงให้ได้! ภาพบางภาพก็สวยเกินจริง ใหญ่เกินจริงด้วยมุมกล้อง ไปสัมผัมบรรยากาศด้วยตัวเองดีที่สุดค่ะ แชร์เฮาส์ส่วนใหญ่จะเป็นตึกค่อนข้างเก่า รีโนเวทก็แค่ด้านใน
3. ตกลงเลือกแชร์เฮาส์ที่จะเข้าอยู่ ทำสัญญาจอง ส่วนเอกสารที่ต้องใช้ส่วนใหญ่ใช้แค่ก๊อปปี้หรือภาพถ่ายพาสปอร์ตเท่านั้นเอง บางที่ก็ใช้ก๊อปปี้บัตรต่างด้าวด้วย
และแชร์เฮาส์ส่วนใหญ่จะไม่เก็บค่ากินเปล่าแรกเข้าแบบอพาร์ตเมนต์รายเดือน (ที่ส่วนใหญ่เก็บกันแพงมาก ประมาณ 1-2 เท่าของค่าเช่า) จะเก็บแค่ค่าประกัน ซึ่งเราจะได้คืนเต็มจำนวนถ้าไม่ทำห้องเป็นรอยหรือพังค่ะ
4. ย้ายเข้าตามวันที่กำหนด
แค่นี้ก็อยู่แชร์เฮาส์ได้แล้ว!

ส่วนเวลาจะย้ายออก ส่วนใหญ่ต้องแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน นัดวันคืนกุญแจเป็นอันเรียบร้อย
ชีวิตในแชร์เฮาส์

แชร์เฮาส์ที่เราอยู่ก็เป็นตึกเก่า 4 ชั้นแต่รีโนเวทใหม่ด้านในค่ะ ห้องค่อนข้างใหม่เลยทีเดียว พื้นที่ส่วนรวมก็สะอาดใช้ได้ มีชาวต่างชาติอยู่ประมาณ 60% หลากหลายประเทศมาก ทั้งฝั่งเอเชียและยุโรป
มีห้องส่วนตัวทั้งหมด 22 ห้อง ห้องครัวรวม 2 ห้องห้องน้ำ 4 ห้อง ห้องอาบน้ำอีก 4 ห้อง
มีเครื่องซักผ้า(ฟรี) 4 เครื่อง และปั่นแห้ง(หยอดเหรียญ) 2 เครื่อง และสามารถตากผ้าชั้นดาดฟ้าได้ด้วย มีราวให้พร้อม
หลาย ๆ คนที่สนใจจะลองย้ายเข้าไปอยู่อาจจะตื่นเต้นหรือไม่ก็กังวลว่าจะเข้าสังคมได้มั้ย เพื่อนข้างห้องจะดีรึเปล่า เราขอสรุปเรื่องสังคมที่เราเจอไว้ดังนี้ค่ะ
ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ!!
ปกติแล้วจะมีคนในแชร์เฮาส์อยู่สองประเภท คือ
1. คนที่ชอบเข้าสังคม ออกไปปาร์ตี้ด้วยกันสุดสัปดาห์
2. คนที่รักสันโดษ เจอกันก็ทักทายตามมารยาทแล้วต่างคนต่างอยู่
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน คุณสามารถอยู่ในแชร์เฮาส์ได้โดยไม่มีปัญหาสังคมแน่นอน
เรื่องเสียงดังข้ามห้องก็ไม่เจอนะ ส่วนใหญ่คนที่พักแชร์เฮาส์จะอายุประมาณ 23-30 เด็กจบใหม่หางาน เด็กเรียนต่อ ทุกคนมีวุฒิภาวะกันในระดับนึง
จะเจอเรื่องเสียงเฉพาะเวลามีคนยืนคุยกันตรงบันไดหรือทางเดินตอนดึก ๆ ค่ะ โดยเฉพาะสุดสัปดาห์ เวลาทุกคนกลับมาจากปาร์ตี้
แชร์เฮาส์เรามีกรุ๊ปไลน์ด้วยนะ ไว้พิมพ์เวลาลืมกุญแจแล้วขอให้ใครซักคนที่ยังอยู่ในบ้านมาเปิดให้ เพราะประตูเข้าอพาร์ตเมนต์เป็นระบบออโต้ล็อคค่ะ
เรื่องของหายหรือขโมยก็ไม่มีปัญหา เพราะห้องส่วนตัวมีล็อค และส่วนใหญ่ไม่มีใครขโมยของกันค่ะ
゚・*:.。. .。.:*・゜゚・*:.。. .。.:*・゜゚・*:.。. .。.:*・゜
ข้อดีและข้อเสีย
ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวมาก
ข้อดี
1. มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่าที่คิด ห้องเราเป็นห้องเดี่ยวเลยไม่ต้องแชร์ห้องนอนกับใคร และทุกคนก็ไม่ได้รบกวนกันเลย มีเวลาส่วนตัวของตัวเอง ไม่ค่อยต่างจากอยู่คนเดียวเท่าไหร่
2. อุปกรณ์ครบ เฟอนิเจอร์ครบ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อใหม่ จะย้ายกลับไทยก็ไม่ต้องห่วงเรื่องกำจัดเฟอร์นิเจอร์ ครัวรวมก็กว้าง และคนใช้น้อยกว่าที่คิด (หลาย ๆ คนใช้แค่ไมโครเวฟ) มีอุปกรณ์พร้อม ไม่ต้องไปไล่ซื้อใหม่ให้ครบ
3. อุ่นใจ เกิดอะไรขึ้นเรียกเพื่อนให้ช่วยได้ ไม่สบายก็มีคนรู้ แต่ต้องทำความรู้จักกับคนข้างห้องไว้
4. ได้ฝึกภาษา จริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนเข้าสังคมมากแค่ไหนด้วย แต่มันได้พูดเยอะกว่าอยู่คนเดียว และบางทีเพื่อน ๆ ก็ชวนไปเที่ยวกัน
5. เปิดแอร์เปิดน้ำร้อนได้ตามใจ เพราะค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊สรวมอยู่ในค่าเช่า ไม่ต้องคอยประหยัด มีอินเตอร์เน็ตด้วย หมดปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการติดต่อบริษัทน้ำไฟแก๊สเน็ต
6. ไม่ต้องทำความสะอาดห้องน้ำและห้องอาบน้ำ เพราะมีแม่บ้านมาทำทุก ๆ สัปดาห์ อันนี้ดีจริง
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
ข้อเสีย
1. ห้องเล็ก! เล็กมาก! ห้องที่เราอยู่มีขนาดแค่ 7 ตารางเมตร เท่านั้นค่ะ!! โต๊ะนิดนึง เตียงนิดนึง ทำงานแทบไม่ได้ (นี่คือเหตุผลหลัก ๆ ที่เราย้ายออกมาอยู่ห้องเดี่ยวหลังจากได้วีซ่านักเรียนและอยู่ตัวแล้ว) โต๊ะมันเล็กจนหมดแรงใจในการทำงานไปเลยค่ะ ถ้าเป็นสายทำงานนอกบ้านหรือทำงานคอม อาจจะไม่มีปัญหาด้านนี้
2. สืบเนื่องจากห้องเล็ก ที่เก็บของเลยน้อย ทำให้ใครที่เสื้อผ้าหรือของใช้เยอะจะต้องกุมหัว ไม่รู้จะสุมของไว้ตรงไหนดี ที่เก็บอาหารหรือซอสก็มีนิดเดียวเพราะต้องแบ่งให้ทุกคนวางได้
3. ถ้าเจอคนทำเสียงดังตอนกลางคืนบ่อยก็จะตื่น เพราะกำแพงไม่หนา ประตูยิ่งเสียงลอดง่าย ใครตื่นง่ายนอนยากต้องคิดหนักเลยค่ะ
4. ถึงจะรีโนเวท แต่แชร์เฮาส์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นตึกเก่า มีแมลงมากวนใจแน่นอน
5. ถ้าเจอคนไม่รักษาความสะอาดห้องน้ำหลังใช้ก็จะรู้สึกยี๊มาก ๆ เราเคยเจอจนต้องหากระดาษมาแปะแล้วเขียนบอกว่าให้รักษาความสะอาดมากกว่านี้
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
สรุปแล้ว
เรื่องสังคมไม่ใช่เรื่องน่าห่วงค่ะ แค่ตื่นเต้นวันแรก ๆ
และแชร์เฮาส์ส่วนใหญ่คนอยู่กันไม่นานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่กี่อาทิตย์หรือไม่กี่เดือนก็ย้าย และคนส่วนใหญ่ก็ต่างคนต่างอยู่มากกว่าที่คิด ตื่นเช้าไปทำงาน กลับบ้านกินข้าว นอน สรุปแล้วมีไว้นอน
เพราะฉะนั้น ชีวิตแบบในการ์ตูนอันสนุกสนาน ทุกคนมารวมตัวกันที่ห้องนั่งเล่นทุกวันนั่นแรร์เคสมาก ๆ เลยนะคะ
สิ่งที่จะกำหนดว่าเราเหมาะกับการอยู่แชร์เฮาส์มั้ยคือการใช้ชีวิตมากกว่า ต้องดูว่าไลฟ์สไตล์ของเราเป็นแบบไหน รักสะอาดมั้ย? ทำงานชิ้นใหญ่ต้องใช้พื้นที่ห้องเยอะ ๆ รึเปล่า? หรือว่าทำงานนอกบ้านมีแชร์เฮาส์ไว้นอนเฉย ๆ
เราอยู่แชร์เฮาส์ได้ประมาณสองเดือนก็ย้ายออกไปอยู่คนเดียวค่ะ ชินกับห้องของตัวเองมากกว่า เพราะถ้าพื้นที่เล็กก็จะทำงานไม่ได้ และรักเราสะอาดเกินไป (จริง ๆ แชร์เฮาส์ที่เราอยู่ก็ถือว่าสะอาดแล้วน่ะนะ)

ยังไงก็ตาม จริง ๆ แล้วก็ชีวิตแชร์เฮาส์เป็นประสบการณ์ที่สนุกพอสมควรเลยล่ะค่ะ ใครสนใจก็ลองไปอยู่ได้ มันมีอิสระมากกว่าไปอยู่โฮสแฟมิลี่หรือหอพักนักเรียน แล้วก็ไม่เหงาเหมือนอยู่คนเดียว
เรื่องราวของแชร์เฮาส์ก็จบเพียงเท่านี้
หวังว่าจะเป็นข้อมูลให้กับใครที่กำลังสนใจอาศัยในแชร์เฮาส์ที่ญี่ปุ่นนะคะ
เจอกันเอนทรี่หน้า สวัสดีค่า~
゚・*:.。. .。.:*・゜゚・*:.。. .。.:*・゜゚・*:.。. .。.:*・゜