สวัสดีค่ะ หมีหมอกค่ะ
หลังจากที่ได้เขียนเอนทรี่เกี่ยวกับการลงสีขั้นพื้นฐาน และลงสีบนผ้าไหมไป
ถ้าเวลาแล้ว ที่เราจะวาดภาพใหญ่กันบ้าง!
งานครั้งนี้เป็นภาพขนาด F50 (1167 x 910mm) ซึ่งสาเหตุที่เราเลือกขนาดนี้ก็เพราะจะเก็บเป็นพอร์ตยื่นตอนสมัครสอบปริญญาโทค่ะ มหาวิทยาลัยที่เราอยู่ต้องยื่นผลงานขนาด 50(F,M,P,S) สองภาพ
ว่าแล้วก็ไปดูขั้นตอนการผลิตผลงานชิ้นใหญ่กันเลย!
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Eqipment
แรกสุดเลย เงินเราจะบินไปกับกระดาษ เฟรม และสี… มาลองดูราคาโดยประมาณกันค่ะว่าเท่าไหร่บ้าง
- เฟรม 3000 เยน
- กระดาษ 5800 เยน
- สี 8000 เยน
นี่ยังไม่รวมค่าสีกับพู่กันตอนแรกสุดและอุปกรณ์จิปาถะต่าง ๆ อีกประมาณ 20,000 เยน
ทีนี้ถ้าเห็นงานศิลปะขายแพง รู้กันแล้วนะคะว่าส่วนนึงมันไปที่ไหน…

ที่แพงสุดจริง ๆ คือค่าสี เพราะการผสมสีขึ้นมาใหม่เป็นอะไรที่ยากและไม่ควรทำมาก ๆ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องซื้อสีที่ต้องใช้ให้ครบ เพื่อนเราที่เรียนด้าน Japanese Painting มาตั้งแต่ปริญญาตรี เปิดกล่องสีทีนี่มีเป็นร้อยสีเลยค่ะ… วาดงานใหม่ทีก็ต้องซื้อสีที่ยังไม่มีที ตุนมาเรื่อย ๆ เห็นแล้วไม่อยากจะถามถึงค่าเสียหายเลย
เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งใจวาดรูป งานจะได้ออกมาคุ้มค่าอุปกรณ์เนอะ!
กระดาษที่เราซื้อครั้งนี้เป็นกระดาษที่ลงโดสะ(การเคลือบเพื่อให้สีติด)มาแล้ว จึงข้ามขั้นตอนการเคลือบกระดาษไป เพราะฉะนั้นเราจะแปะกระดาษกับเฟรมไม้ขนาดใหญ่เลย!
รีรันวิธีแปะกระดาษอีกครั้ง

พองานใหญ่เราก็กลัวทำพัง กลัวกระดาษพอง แต่ก็ผ่านไปด้วยดีด้วยพลังของกาวที่ทาไว้ทั่วเฟรม! เทคนิคติดกระดาษชั้นแรกคือ ถ้าเฟรมที่ใช้เป็นเฟรมใหม่ ให้ทากาวทิ้งไว้หนึ่งรอบก่อน รอให้แห้งแล้วค่อยทากาวสำหรับติดกระดาษอีกที จะติดง่ายขึ้นค่ะ
ต่อไปก็แปะกระดาษจริงลงบนเฟรม สิ่งที่ทาลงบนกระดาษไม่ใช่กาวแต่เป็นน้ำ เพื่อที่กระดาษจะได้ขยาย เวลาแปะเสร็จ พอกระดาษแห้ง มันก็จะหดตัวทำให้ตึงเรียบ ไม่เป็นรอยคลื่นเวลาลงสีค่ะ ในส่วนนี้เราจะแปะกาวแค่ขอบ จะได้ลอกออกได้ง่าย ๆ หลังจากวาดเสร็จแล้ว

ขั้นตอนนี้ควรเพื่อนช่วยจะได้ทำงานได้ไวก่อนกระดาษแห้ง และมีคนช่วยดึงกระดาษให้ตึง
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Painting
มาสู่ขั้นตอนการวาดกันบ้าง
เริ่มจากร่างภาพเล็ก ๆ ออกมาหลาย ๆ ภาพ หาไอเดียว่าจะวาดอะไรดี คอมโพสแบบไหนดี
ขั้นตอนนี้เราเลือกที่จะวาดในคอม เพื่อที่จะได้ทดลองลงสีได้ด้วย เห็นภาพรวมได้เร็วดีค่ะ

ตามมาด้วยร่างภาพบนกระดาษสเก็ตช์ขนาดเท่าผลงานจริงค่ะ ใหญ่มากกกก ลงแสงเงาคร่าว ๆ ด้วย จะได้นึกภาพออกว่าจะวาดให้ออกมาเป็นยังไง

และในครั้งนี้เราจะลงสีพื้นให้มีสีสันเยอะ ๆ ก่อน เลยยังไม่ตัดเส้นค่ะ

แต่สรุปว่า พอลงสีพื้นไปปุ๊บ! ชอบสีที่ลงมากกกกกกกกกกกกกก
มากจนล้มแบบร่างไปเลย…
ใจจริงอยากหยุดแค่นี้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าหยุดอาจารย์จะต้องตีงานกลับแน่นอน ก็เลยเปลี่ยนใจไปวาดรูปธีมเดิมแต่เปลี่ยนสีกับเอาตัวละครออกค่ะ ทดลองถ่ายรูปไปแต่งเพิ่มในคอมก่อนว่าจะรอดมั้ย พอเห็นว่ารอดก็เลยวาดต่อ
ทีนี้พอไม่วาดตัวละครแล้ว เลยตัดสินใจไม่ตัดเส้น ใช้ร่างสดด้วยสีขาวแทน แล้วค่อย ๆ เก็บรายละเอียดเอาอีกที


แต่วาดไปวาดมา รู้สึกว่าภาพมันสีเดียวไปหน่อย ค่อนข้างน่าเบื่อ เลยปฏิบัติการเพิ่มสีอื่นเข้าไป (ทั้ง ๆ ที่เริ่มเก็บรายละเอียดใบแล้วแท้ ๆ …) จริงๆ แล้วตามขั้นตอนปกติที่เราวาดคือลงสีไปเยอะ ๆ ก่อน แล้วเก็บรายละเอียดทีหลังจะง่ายกว่า

เอกลักษณ์อีกอย่างของสีญี่ปุ่นคือ ต่อให้แห้งแล้วเราก็สามารถถูออกเพื่อทำการไล่สีหรือผสมสีได้ค่ะ เพราะปกติแล้วสีจะผสมให้เข้ากันค่อนข้างยาก คนส่วนใหญ่เลยนิยมใช้วีธีนี้แทน
ทีนี้เราก็เลยเลยถม ๆ ๆ สีลงไปแล้วถูส่วนที่ไม่ต้องการออก

จริง ๆ ตอนเราลงก็กะ ๆ เอาค่ะ เดาไม่ถูกว่าตอนแห้งจะออกมาเป็นแบบไหนเพราะยังไม่ชินกับสี ครั้งนี้เราลงสีบางไปหน่อย ตอนถูออกสีมันเลยดูไม่เต็มเท่าที่ควร คิดว่าครั้งหน้าควรจะลงให้หนาขึ้น ภาพจะได้ดูเต็มขึ้นด้วย
สุดท้ายก็เก็บรายละเอียดให้สวยงาม

จริง ๆ ชอบตอนเก็บรายละเอียดมากเลย สีมันผสมกันเยอะ ๆ แล้วดูน่าสนใจดี


พอเก็บรายละเอียดครบเป็นอันเสร็จ!
เชิญชมภาพใหญ่กันเลยค่ะ

สำหรับเอนทรี่นี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้
แต่ข้อมูลการวาดรูป Japanese Painting นั้นยังไม่หมด! เอนทรี่หน้าเราจะไปดูวิธี ‘โมะชะ’ หรือการลอกผลงานที่มีอยู่แล้ว(เพื่อการศึกษา)กันค่ะ บอกเลยว่าขั้นตอนเยอะมาก รอติดตามกันนะคะ

ขอบคุณที่อ่านค่า
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆