สวัสดีค่า~ หมีหมอกค่ะ
เข้าสู่เอนทรี่ที่สองของวิธีวาดรูปด้วยสีญี่ปุ่น
ในเอนทรี่ที่แล้ว เราได้พูดถึงอุปกรณ์ไป เช่น สี กาว และวิธีใช้
คราวนี้เราจะมาอธิบายถึงขั้นตอนการวาดรูปจริง ๆ แล้วค่ะ
ว่าแล้วไปดูกันเลย!

◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Sketch
ผลงานในเอนทรี่นี้ เป็นงานเรียนชิ้นแรกที่เราได้ทำในคลาสเลยค่ะ โจทย์ก็คือวาดดอกลิลลี่ด้วยสีญี่ปุ่น!
แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เราจะไปหยิบสีมาผสมกับกาวแล้วเริ่มลงเลยนะคะ แบบนั้นก็แอดวานซ์ไป แรกสุด เราจะเริ่มจากสเก็ตช์ภาพก่อน การสเก็ตช์นั้นสำคัญมากเพราะทำให้เราจับรายละเอียดได้ว่าสิ่งที่เราวาดนั้นมีลักษณะยังไง มีจุดเด่นอะไรบ้าง

ขั้นตอนนี้ยังใช้สีอะไรก็ได้ค่ะ เพราะเป็นแค่ภาพไว้ใช้เป็นข้อมูลตอนวาดจริง เราใช้สีน้ำเพราะสะดวกและเร็ว ชินมือด้วย
งานนี้เรามีดอกลิลลี่ของจริงเป็นต้นแบบ แต่มันจะไม่อยู่กับเราไปตลอด ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ก็เหี่ยวแล้ว นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เราควรวาดรายละเอียดเก็บไว้เป็นข้อมูลให้เยอะที่สุดค่ะ (แต่ลำต้นของลิลลี่ทนมาก ตัดดอกออก แล้วคอยเปลี่ยนน้ำเรื่อย ๆ ผ่านไปปีนึงงอกรากงอกใบออกมาใหม่แล้วค่ะ สุดยอด)

ตอนวาดก็สังเกตว่าสีของใบเป็นยังไง ผิวด้านล่างของใบจะสีอ่อนกว่าด้านบน ปลายใบเป็นยังไง ใบไม้งอกออกมาในลักษณะไหน

◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Paper
จากนั้นก็เตรียมวาดรูปผลงานจริง
ก่อนอื่น ก็ต้องมีกระดาษญี่ปุ่นไว้วาด! กระดาษจะคล้าย ๆ กระดาษสาค่ะ เยื่อกระดาษค่อนข้างเยอะ ไม่เนียนละเอียดแบบกระดาษแบบสมุดโน๊ตทั่วไป มีทั้งแบบบางและหนา เท่าที่ลองมาเราชอบกระดาษหนามากกว่า รู้สึกทนดี
เริ่มจากขึงกระดาษกับเฟรมไม้ค่ะ สำหรับงานสีญี่ปุ่นนั้น จะนิยมขึงกระดาษสองชั้น ซึ่งจะเป็นกระดาษรองกับกระดาษจริง เพื่อความเรียบของพื้นผิวเวลาลงสี และง่ายต่อการนำเฟรมไปใช้ต่อ เวลาจะวาดงานใหม่บนเฟรมเก่า ก็แค่แกะแค่แผ่นกระดาษจริงชั้นบนออกแล้วขึงกระดาษที่จะวาดแค่ชั้นเดียว
วิธีขึงกระดาษก็ตามนี้เลยค่ะ

◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Line
มาถึงขั้นตอนต่อไป นั่นก็คือการคัดลอกรูปลงบนกระดาษจริง เพราะกระดาษญี่ปุ่นนั้นมีความบอบบางและไม่ควรใช้ยางลบไปลบบ่อย เราจึงต้องใช้วิธีวาดภาพร่างบนกระดาษแผ่นอื่นแล้วนำมาลอกลายเอาแทนค่ะ
คราวนี้เราไม่ได้วาดใหม่ แต่ใช้ภาพดรอว์อิ้งสีน้ำตอนแรกเป็นต้นแบบเลย
แต่ตามปกติแล้ว ภาพเสก็ตช์จะเป็นแค่ข้อมูลเสริม เวลาวาดลงกระดาษจริง ส่วนใหญ่ก็ไปคิดคอมโพสกับภาพมาใหม่
กระดาษลอกลายของ Japanese Painting นั้นเรียกว่า ‘เน็นชิ’ ทำจากสีผงผสมกับเหล้าญี่ปุ่น(สาเก) วิธีที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม

ตอนทำนี่ห้องคลุ้งกลิ่นสาเกมาก แถมยิ่งสาเกถูกยิ่งติดดีค่ะ บางคนก็ใช้คาร์บอนเปเปอร์ แต่เส้นของคาร์บอนเปเปอร์มันจะไม่หายไปค่ะถ้าไม่ลงสีทับแบบหนาจริง ๆ เพราะฉะนั้นบางคนก็ไม่นิยมใช้


ตอนตัดเส้น ก็ใช้พู่กันหัวเล็กกับหมึกวาดเอา หมึกที่ใช้จะเป็นหมึกแท่งมาผสมกับน้ำเอง หรือหมึกสำเร็จรูปก็ได้ค่ะ ขอแค่กันน้ำก็พอ

◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
Color
มาถึงขั้นตอนหลักของการวาดภาพแล้ว นั่นคือลงสีนั่นเอง เราเริ่มจากแบคกราวน์ที่ทำจากสีขาวผสมกับหมึกดำ ปาดให้ทั่วแล้วปล่อยให้แห้งสนิท
จากนั้นจึงค่อยลงสีในส่วนของดอกไม้ค่ะ
สารภาพตรงนี้เลยว่าลงสีครั้งแรกเป็นอะไรที่ยากมาก ไปไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้องเริ่มตรงไหน เลยเริ่มจากลงพวกใบไปทีละสีก่อน เพราะมันผสมกันยากด้วย
ปัญหาหลัก ๆ ที่เจอเลยก็คือ สีตอนที่เปียกกับตอนแห้งแล้วจะไม่เหมือนกันค่ะ ตอนที่เปียกจะยังโปร่งแสง พอแห้งแล้วทึบขึ้นมาซะอย่างนั้น แถมสีอ่อนลงด้วย ต้องจำสีตอนยังเป็นผงไว้


ช่วงแรก ๆ ก็ต้องค่อย ๆ กะกันไป ลงสีแต่ละทีไม่ค่อยเหมือนที่จินตนาการไว้ ทำให้วาดแล้วไม่ค่อยได้ดั่งใจเท่าไหร่ แถมเวลาผสมสีกับนิคาวะก็ต้องผสมให้ดี ถ้าน้อยเกินไปหรือนวดสีไม่ดีสีก็จะหลุดง่าย เวลาลงทับหลาย ๆ ชั้นถ้าผสมสีไม่ดีจะเกิดปัญหาเช่นสีหลุดหรือแตกได้ค่ะ ตอนวาดเสร็จนี่อาจารย์เดินมาใช้นิ้วถูเช็คเลยค่ะ (…) ดีนะไม่หลุด

งานนี้เลยใช้ความละเอียดเป็นหลัก ค่อย ๆ ลงทับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้สีที่พอใจ สีขาวนี่ลงหลายชั้นหน่อยเพราะลงยังไงก็ไม่ขาวซักที แล้วก็ใช้พู่กันเส้นเล็กเก็บรายละเอียดและเบลนสีให้เข้ากัน เพราะยังไม่ชินกับการผสมค่ะ
ผลงานที่ได้ก็ออกมาประมาณนี้!!

ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี ไม่ขี้เหร่
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆
สำหรับเอนทรี่นี้ ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้
จริง ๆ แล้วยังมีเทคนิคอีกมากมายที่เราจะต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไป หวังว่าตัวเองจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แหะ ๆ
เอนทรี่หน้าเรามาดูวิธีวาดรูปบนผ้าไหมกันบ้าง อย่าลืมติดตามนะคะ!
ขอบคุณที่อ่านค่ะ